NEWS ニュース

การทูตวัคซีนของประเทศญี่ปุ่น

1,450 views

การทูตวัคซีนของประเทศญี่ปุ่น

บทความโดย กฤชวัฒน์ วัฒนคำแสง

บทนำ: สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในเอเชีย

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงกลางเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในภูมิภาคเอเชียถือได้ว่าดีกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะภูมิภาคยุโรป และภูมิภาคอเมริกา ปัจจัยความสำเร็จสำคัญในการจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าวของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย คือ “มาตรการในการจำกัด และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนของภาครัฐที่เป็นไปอย่างเข้มงวด” ตัวอย่างมาตรการดังกล่าวที่สำคัญ ได้แก่ มาตรการจำกัดการเดินทางของประชาชนทั้งระหว่างพื้นที่ และระหว่างประเทศ มาตรการปิดพื้นที่ชั่วคราว (Lockdown) การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อจำกัดกิจกรรมในเวลากลางคืน รวมไปถึงมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ และผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงในสถานที่ที่ภาครัฐกำหนด (State quarantine) และมาตรการติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

ตัวอย่างความสำเร็จของประเทศในภูมิภาคเอเชียในการจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ได้แก่ ไต้หวัน และประเทศไทย สำหรับ ไต้หวัน ในช่วงปีแรกของการแพร่ระบาดของโรค สถิติผู้ติดเชื้อทั้งหมด 799 ราย จากจำนวนประชากรมากกว่า 23.59 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 0.003 ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 7 ราย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ ที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกันอย่างประเทศโรมาเนีย พบว่า สถิติผู้ติดเชื้อทั้งหมด 632,263 จากจำนวนประชากรทั้งหมด 19.23 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 3.28 ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด และในกรณี ประเทศไทย ในช่วงปีแรกของการแพร่ระบาดของโรค สถิติผู้ติดเชื้อทั้งหมด 6,884 ราย จากจำนวนประชากรมากกว่า 65.22 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 0.01 ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 61 ราย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ ที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกันอย่างประเทศฝรั่งเศส พบว่า สถิติผู้ติดเชื้อทั้งหมด 2,620,425 ราย จากจำนวนประชากรทั้งหมด 65.27 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 4.01 ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 64,632 ราย จากจำนวนประชากรทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ในช่วงปีแรกของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียจะเป็นไปอย่างดี สถิติผู้ติดเชื้อใหม่ และผู้เสียชีวิตมีจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ หากแต่ในช่วงต้นปีค.ศ. 2021 เป็นต้นมา ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียต่างเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่รุนแรงขึ้น สถิติผู้ติดเชื้อใหม่ และผู้เสียชีวิตมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสวนทางกับบางประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ และเสียชีวิตลดลง โดยเฉพาะประเทศที่มีความสามารถในการผลิต และจัดการกับวัคซีนป้องกันโควิด 19 อาทิ ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา  ดังนั้น นอกเหนือจากมาตรการผ่อนปรนของภาครัฐ ประชาชนละเลยการปฏิบัติตามมาตรของรัฐแล้ว “ปัญหาการเข้าถึงวัคซีน หรือการกระจายวัคซีนจากประเทศที่ผลิตไปสู่ประเทศอื่น” โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย จึงกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในภูมิภาคเอเชียรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 

ความสำคัญของวัคซีน และประเทศที่ดำเนินบทบาทการทูตวัคซีน

วัคซีนป้องกันโควิด 19 นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคแล้ว วัคซีนป้องกันโควิด 19 ยังถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ และสังคมขึ้นมาใหม่ภายหลังที่ระบบทั้งสองถูกทำลายลงในช่วงการแพร่ระบาดที่ผ่านมา จากความสำคัญของวัคซีนป้องกันโควิด 19 ทั้งสองประการข้างต้น ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญในการวิจัยพัฒนา และผลิตวัคซีนป้องกันโควิด 19 เพื่อนำมาใช้กับประชาชนภายในประเทศ และส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งในลักษณะของการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม การค้า และเครื่องมือหนึ่งในการดำเนินนโยบายทางการทูต

          “การทูตวัคซีน” (Vaccines Diplomacy) หมายถึง “การใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือในสร้างอิทธิพล และยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” หรือ “การผลักดันยุทธศาสตร์ และนโยบายต่างประเทศในรูปแบบของอำนาจแบบอ่อน (Soft power) ผ่านการใช้วัคซีน” สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค การทูตวัคซีนเริ่มปรากฏขึ้นภายหลังที่ประเทศต่าง ๆ ที่สามารถวิจัยพัฒนา และผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และสามารถใช้กับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัยเริ่มกระจายวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้แก่ประเทศต่าง ๆ ที่มีความต้องการ ทั้งในรูปแบบของการบริจาค และรูปแบบของการจัดจำหน่าย ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญของการดำเนินบทบาทการทูตวัคซีนของประเทศต่าง ๆ คือ การแผ่ขยายอิทธิพล และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศที่กระจายวัคซีนกับประเทศที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน

          ตัวแสดงสำคัญในการทูตวัคซีนในปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม อันได้แก่ กลุ่มพันธมิตรสหรัฐอเมริกา อันประกอบไปด้วย กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (G7) กลุ่มภาคี 4 ประเทศ (QUAD) โดยที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ วัคซีนป้องกันโควิด 19 ที่สำคัญของกลุ่มพันธมิตรสหรัฐอเมริกามีทั้งหมด 4 ราย อันได้แก่ โมเดอน่า (Moderna) จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) แอสตราเซเนก้า (AstraZeneca) และไฟเซอร์ (Pfizer) และช่องทางการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้แก่ประเทศต่าง ๆ ของกลุ่มพันธมิตรสหรัฐอเมริกามีทั้งหมด 2 ลักษณะ อันได้แก่ 1. การกระจายวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้แก่ประเทศผู้รับโดยตรง (Bilateral) ซึ่งการดำเนินบทบาทในลักษณะนี้ส่วนใหญ่ประเทศผู้รับจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศผู้ให้ และ 2. การกระจายวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้แก่โครงการโคแวกซ์ (COVAX)  ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศที่มุ่งจัดสรร และกระจายวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้แก่กลุ่มประเทศรายได้น้อย และรายได้ปานกลาง ในส่วนของกลุ่มจีน-รัสเซีย ประกอบไปด้วยประเทศรัสเซีย และจีน  โดยที่มีประเทศจีนเป็นผู้นำ วัคซีนป้องกันโควิด 19 ที่สำคัญของกลุ่มจีน-รัสเซียมีทั้งหมด 3 ราย อันได้แก่ ซิโนฟาร์ม (Sinopharm)  ซิโนแวค (Sinovac) และ  สปุตนิค วี (Sputnik V) และช่องทางการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้แก่ประเทศต่าง ๆ ของกลุ่มจีน-รัสเซียมีลักษณะเดียว นั่นคือ กระจายวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้แก่ประเทศผู้รับโดยตรง (Bilateral) ทั้งในรูปแบบของการบริจาค สำหรับประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีหรือประเทศที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ของประเทศจีน และรูปแบบของการจัดจำหน่ายในราคาถูก สำหรับประเทศที่มีความต้องการวัคซีนป้องกันโควิด 19 ของประเทศจีน และรัสเซีย

 

บทบาทของประเทศญี่ปุ่นในฐานะตัวแสดงใหม่ในเกมส์การทูตวัคซีนในภูมิภาคเอเชีย

          ประเทศญี่ปุ่น ถือได้ว่าเป็นหนึ่งตัวแสดงที่ดำเนินบทบาททางการทูตวัคซีนภายในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศญี่ปุ่นเริ่มเข้ามามีบทบาทในการดำเนินบทบาทการทูตวัคซีนอย่างเป็นทางการเมื่อในวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 2021 ภายหลังการประชุมระดับสุดยอดกลุ่มภาคี 4 ประเทศ (QUAD) ประเทศญี่ปุ่นได้รับมอบหมายจากที่ประชุมให้ทำหน้าที่จัดสรรเงินกู้ (loan) ให้แก่ประเทศอินเดียผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) เพื่อให้ประเทศอินเดียมีเงินทุนสำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด 19 และกระจายให้แก่ประเทศต่าง ๆ  ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก นอกจากนี้ประเทศญี่ปุ่นยังได้รับมอบหมายจากที่ประชุมให้ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาทางด้านวัคซีนป้องกันโควิด 19 อีกด้วย (The White House 2021)

          นอกเหนือจากบทบาทการทูตวัคซีนของประเทศญี่ปุ่นที่กระทำร่วมกับกลุ่มภาคี 4 ประเทศแล้ว ประเทศญี่ปุ่นยังได้ขยายบทบาทการทูตวัคซีนทั้งในลักษณะของ “การกระจายวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้แก่โครงการโคแวกซ์ (COVAX)” และ “การกระจายวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้แก่ประเทศผู้รับโดยตรง” อันได้แก่ ไต้หวัน และประเทศเวียดนาม

           บทบาทการทูตวัคซีนของประเทศญี่ปุ่นต่อโครงการโคแวกซ์ (COVAX) โครงการโคแวกซ์ ถือได้ว่าเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียม โดยมุ่งเน้นการกระจายวัคซีนให้แก่กลุ่มประเทศรายได้น้อย และรายได้ปานกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพในการเข้าถึงวัคซีนได้ต่ำ บทบาทการทูตของประเทศญี่ปุ่นต่อโครงการโคแวกซ์เริ่มต้นในวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 โดยนายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูกะ ได้ประกาศระหว่างการประชุม Gavi's COVAX Advance Market Commitment (AMC) Summit  ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในการประชุมออนไลน์ในครั้งนี้ ว่าประเทศญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือแก่โครงการโคแวกซ์ด้วยการบริจาคเงินจำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด 19 และกระจายให้แก่ประเทศสมาชิกโครงการโคแวกซ์ต่อไป

          บทบาทการทูตวัคซีนของประเทศญี่ปุ่นต่อโครงการโคแวกซ์มีการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 2021 เมื่อนายกรัฐมนตรี โยชิฮะเดะ ซูกะ ประกาศระหว่างการแถลงข่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นจะเพิ่มความช่วยเหลือให้แก่โครงการโคแวกซ์ โดยจะเพิ่มเงินบริจาคอีก 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และบริจาควัคซีนป้องกันโควิด 19 อีกจำนวน 30 ล้านโดสให้แก่โครงการโคแวกซ์ โดยประเทศญี่ปุ่นจะเริ่มส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด 19 ล็อตแรกจำนวน 11 ล้านโดสให้แก่โครงการโคแวกซ์ภายในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2021

          บทบาทการทูตวัคซีนของประเทศญี่ปุ่นต่อไต้หวัน ไต้หวันถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดี และมีผลประโยชน์ร่วมกันทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงกับประเทศญี่ปุ่น ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ไต้หวันเผชิญกับปัญหาใหญ่ 2 ประการ อันได้แก่ 1. ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็ว และรุนแรง และ 2. ไต้หวันไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเพียงพอ โดยทางการไต้หวันได้อ้างเหตุผลว่าประเทศจีนขัดขวางการทำสัญญาจัดซื้อวัคซีนระหว่างไต้หวันกับบริษัทผู้ผลิต เมื่อไต้หวันเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว ประเทศญี่ปุ่นจึงให้ความช่วยเหลือแก่ไต้หวัน โดยในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 รัฐบาลญี่ปุ่นได้แจ้งว่าจะจัดสรรวัคซีนให้แก่ไต้หวันโดยตรง เพื่อจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วภายในไต้หวัน ต่อมาในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 2021 ประเทศญี่ปุ่นได้จัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ให้แก่ไต้หวันจำนวน 1.24 ล้านโดส (Ministry of Foreign Affairs Republic of China (Taiwan) 2021) และสัญญาว่าจะบริจาควัคซีนป้องกันโควิด 19 เพิ่มอีก 1 ล้านโดส โดยมิได้ระบุกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน ซึ่งการจัดส่งวัคซีนให้แก่ไต้หวันของประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นแสดงความต้องการที่จะเข้ามามีบทบาทในเกมส์การทูตวัคซีนในภูมิภาคเอเชียอย่างชัดเจน และถือได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงความเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับไต้หวันในช่วงเวลาที่ไต้หวันเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากจากทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโรค อย่างรวดเร็ว และความพยายามในการขยายอิทธิพล ของประเทศจีนผ่านการทูตวัคซีนที่มีต่อไต้หวัน

          บทบาทการทูตวัคซีนของประเทศญี่ปุ่นต่อประเทศเวียดนาม ประเทศเวียดนามถือได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศยุทธศาสตร์ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่นกับประเทศเวียดนามต่างก็มีผลประโยชน์ร่วมทั้งทางด้านการเมือง และด้านเศรษฐกิจ สำหรับด้านการเมือง ประเทศญี่ปุ่นและประเทศเวียดนามต่างก็มีเป้าหมายร่วมกัน นั่นคือ การสกัดกั้นการแผ่อิทธิพลของประเทศจีน ในส่วนด้านเศรษฐกิจ ประเทศเวียดนามถือได้ว่าเป็นฐานการผลิต และการลงทุนที่สำคัญของภาคเอกชนญี่ปุ่น นอกจากนี้ประเทศเวียดนามยังถือได้ว่าเป็นประเทศเป้าหมายสำหรับภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน นับตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 2021 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศเวียดนามที่เริ่มรุนแรง และรวดเร็วมากยิ่งขึ้นก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการผลิตของภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศเวียดนาม ดังนั้นประเทศญี่ปุ่นจึงตัดสินใจให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเวียดนาม โดยในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 2021 รัฐบาลญี่ปุ่นบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) จำนวน 1 ล้านโดสให้แก่ประเทศเวียดนาม และสัญญาว่าจะบริจาควัคซีนป้องกันโควิด 19 เพิ่มอีก 1 ล้านโดส โดยมิได้ระบุกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลดความรุนแรงลง และลดผลกระทบที่ภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศเวียดนามได้รับอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้

          นอกจากบทบาทการทูตวัคซีนของประเทศญี่ปุ่นที่ดำเนินการในลักษณะการกระจายวัคซีนป้องกัน   โควิด 19 ให้แก่ประเทศผู้รับโดยตรงที่มีต่อไต้หวัน และประเทศเวียดนามดั่งที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ประเทศญี่ปุ่นยังได้ขยายบทบาทการทูตวัคซีนไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย โดยในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 2021 นายกรัฐมนตรี โยชิฮิดะ ซูกะ ประกาศระหว่างการแถลงข่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการบริจาควัคซีนแอสตราเซเนกร้าให้แก่ 4 ประเทศ อันได้แก่ ประเทศไทย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย   ประเทศละประมาณ 1 ล้านโดส โดยมิได้ระบุกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน

          จากบทบาทการทูตวัคซีนของประเทศญี่ปุ่นดั่งที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าบทบาทการทูตวัคซีนของประเทศญี่ปุ่นในลักษณะการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้แก่ประเทศผู้รับโดยตรง ประเทศผู้ได้รับการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด 19 เกือบทั้งหมดเป็นประเทศภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าบทบาทการทูตวัคซีนของประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้เน้นให้ความสำคัญกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก

 

นัยสำคัญของบทบาทการทูตวัคซีนของประเทศญี่ปุ่นที่มีต่อประเทศไทย

          ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประเทศญี่ปุ่นในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต และตลาดที่สำคัญของภาคเอกชนญี่ปุ่น และด้านสังคม-วัฒนธรรม ประเทศไทยได้รับ และยอมรับอิทธิพลของประเทศญี่ปุ่นทั้งในด้านสังคม และวัฒนธรรม และในหลากหลายระดับนับตั้งแต่ระดับผู้นำของรัฐไปจนถึงระดับประชาชน สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยในด้านการจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติ ประเทศทั้งสองมีความสัมพันธ์ในลักษณะ “การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งเผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติ อีกประเทศจะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศนั้น ๆ เหตุการณ์ที่สำคัญที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ในลักษณะการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันของประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยในช่วงสถานการณ์ภัยพิบัติ ได้แก่ เหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิในภูมิภาคโทโฮกุ (Tohoku) ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2011 ประเทศไทยส่งจดหมายแสดงถึงความเสียใจกับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น และได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศญี่ปุ่นในด้านต่าง ๆ ทั้งทางด้านเจ้าหน้าที่ ด้านการเงิน และด้านสิ่งของที่จำเป็น ในขณะเดียวกัน ในปีเดียวกันประเทศไทยก็เผชิญกับภัยพิบัติอุทกภัยใหญ่ ค.ศ. 2011 ประเทศญี่ปุ่นก็ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยด้วยการส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านการบรรเทาสาธารณภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านการจัดการสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น และให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ประเทศไทย

          การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ถือได้ว่าเป็นสถานการณ์ภัยพิบัติที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างก็เผชิญอยู่ สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในประเทศไทย มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญนับตั้งแต่ต้นปีค.ศ. 2021 กล่าวคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ภายในประเทศไทยเริ่มรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นสะท้อนออกมาผ่านจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีการผลิตในประเทศไทย โรงงานบางแห่งจำเป็นที่จะต้องหยุดการผลิตชั่วคราวทั้งอันเนื่องมาจากการพบผู้ติดเชื้อภายในโรงงานก็ดีหรือเป็นผลมาจากคำสั่งจากภาครัฐก็ดี ในขณะเดียวกันอำนาจในการซื้อของประชาชนภายในประเทศลดลง ก็ส่งผลให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ทำการตลาดภายในประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน

          เพื่อให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ภายในประเทศไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น และเพื่อให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตหรือพึ่งพาตลาดภายในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ภายในประเทศไทยลดลง รวมไปถึงการเน้นย้ำความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่นจึงตัดสินใจให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย ในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 2021 นายโทชิมิตสึ โมเทกิ (Toshimitsu Motegi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ประกาศว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในสามประเทศที่จะได้รับความช่วยเหลือจากประเทศญี่ปุ่นด้วยการบริจาควัคซีน     แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ที่ผลิตภายในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 1 ล้านโดส ภายในเดือนกรกฎาคม ต่อมาในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2021 รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้แถลงข่าวว่าคณะรัฐมนตรีมีมติยอมรับความช่วยเหลือจากประเทศญี่ปุ่นด้วยการรับการบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) จำนวน 1.05 ล้านโดสจากประเทศญี่ปุ่น และในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 มีพิธีการรับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) อย่างเป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาล โดยที่มีนายนาชิดะ คาซุยะ (NASHIDA Kazuya) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยในฐานะตัวแทนนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีไทยในการรับมอบดังกล่าว

          ทั้งนี้การบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) จำนวน 1.05 ล้านโดสของประเทศญี่ปุ่นได้มีการระบุเงื่อนไขที่สำคัญ 5 ประการ อันได้แก่

  1. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ที่ประเทศไทยได้รับจะต้องถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางด้านสาธารณสุข และการแพทย์ของประเทศไทย และ “ห้ามใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร”
  2. ประเทศไทยจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) จากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทย ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวประมาณ 2.9 - 28.7 ล้านบาท
  3. จะต้องเปิดเผยข้อมูลการบริหารจัดการวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ที่ประเทศไทยได้รับเมื่อมีการร้องขอ
  4. ห้ามมิให้ส่งต่อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ที่ประเทศไทยได้รับให้แก่บุคคล หน่วยงาน และรัฐบาลอื่น เว้นแต่รัฐบาลญี่ปุ่นจะอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร
  5. สิ่งที่จำเป็น สำหรับการดำเนินการ ข้อกำหนด และเงื่อนไขเกี่ยวกับการส่งมอบวัคซีนจะจัดทำโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจของรัฐบาลญี่ปุ่น คือ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ และหน่วยงานผู้มีอำนาจของรัฐบาลไทย คือกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากการให้ความช่วยเหลือของประเทศญี่ปุ่นต่อประเทศไทยด้วยการบริจาควัคซีน                  แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) จำนวน 1.05 ล้านโดสแล้ว ประเทศญี่ปุ่นยังให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยด้วยการจัดหา และบริจาคอุปกรณ์เก็บความเย็นสำหรับการเก็บวัคซีนให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม อีกด้วย

จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 อย่างรุนแรงภายในประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่นได้แสดงบทบาทในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยทั้งในด้านการบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และการจัดหา และบริจาคอุปกรณ์เก็บความเย็นสำหรับการเก็บวัคซีน การแสดงบทบาทการทูตวัคซีนของประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงนัยสำคัญต่อประเทศไทยในฐานะประเทศผู้รับด้วยเช่นกัน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น อันได้แก่

การแสดงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในลักษณะการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในขณะที่ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 อย่างรุนแรง และเผชิญกับปัญหาความไม่เพียงพอของความต้องการวัคซีนของประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่นในฐานะที่เป็นประเทศที่มีความแน่นแฟ้นกับประเทศไทยจึงดำเนินบทบาทการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยด้วยการบริจาควัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และการจัดหา และบริจาคอุปกรณ์เก็บความเย็นสำหรับการเก็บวัคซีน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ได้ดียิ่งขึ้น และช่วยให้สภาวะขาดแคลนวัคซีนป้องกันโควิด 19 ภายในประเทศไทยดีขึ้น

การเปิดทางให้พันธมิตรสหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในการทูตวัคซีนในประเทศไทยเพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของประเทศจีนในด้านการให้ความช่วยเหลือทางด้านวัคซีนป้องกันโควิด 19 นับตั้งแต่การเริ่มใช้วัคซีนป้องกันโควิด 19 ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทย วัคซีนป้องกันโควิด 19 ที่ใช้ภายในประเทศส่วนใหญ่ คือ วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm)  และวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ที่มีฐานการวิจัยพัฒนา และผลิตในประเทศจีน ในส่วนวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิดอื่น ๆ ยังมีการใช้ในจำนวนที่จำกัด สำหรับการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด 19 ของประเทศไทย “วัคซีนซิโนแวค (Sinovac)” ถือได้ว่าเป็นวัคซีนป้องกันโควิด 19 หลักที่ใช้ภายในประเทศ ซึ่งการที่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคใช้วัคซีนป้องกันโควิด 19 มีฐานการวิจัยพัฒนา และผลิตในประเทศจีนผ่านการให้ความช่วยเหลือระหว่างรัฐบาล-รัฐบาลในรูปแบบของการบริจาคก็ดีหรือผ่านการจัดจำหน่ายก็ดีได้แสดงให้เห็นถึงว่าประเทศจีนดำเนินบทบาทการทูตวัคซีนต่อประเทศต่าง ๆ ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยเชิงรุกเป็นอย่างมาก และถือได้ว่าเป็นความพยายามของประเทศจีนในการเพิ่มอิทธิพลภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการทูตวัคซีน การดำเนินบทบาทการทูตวัคซีนเชิงรุกของประเทศจีนที่มีต่อภูมิภาคนี้โดยเฉพาะที่มีต่อประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประเทศญี่ปุ่นมาเป็นระยะเวลายาวนานได้ส่งผลกระทบต่ออิทธิพล และผลประโยชน์ของประเทศญี่ปุ่นที่มีอยู่ภายในประเทศไทย และภูมิภาคนี้ด้วยเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้นำกลุ่มพันธมิตรสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่มีความชัดเจนในการเข้ามามีบทบาทการทูตวัคซีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทยด้วยเช่นกัน ดังนั้นสำหรับประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศสมาชิกพันธมิตรสหรัฐอเมริกาจึงจำเป็นที่จะต้องเข้ามามีบทบาทการทูตวัคซีนภายในภูมิภาคนี้ และประเทศไทย แม้ว่าจำนวนประเทศภายในภูมิภาคนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ และจำนวนวัคซีนป้องกันโควิด 19 ที่ประเทศญี่ปุ่นบริจาคในครั้งนี้จะน้อยกว่า และล่าช้ากว่าการดำเนินบทบาทการทูตวัคซีนของประเทศจีน หากแต่การดำเนินบทบาทการทูตวัคซีนของประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ได้แสดงนัยสำคัญ นั่นคือ กลุ่มพันธมิตรสหรัฐอเมริกามิได้เพิกเฉยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 และต้องการเข้ามามีบทบาทการทูตวัคซีนภายในภูมิภาคนี้ผ่านการบริจาควัคซีนป้องกันโควิด 19 ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะรอความชัดเจนในการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินบทบาทการทูตวัคซีนของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทย

 

บรรณานุกรม

ภาษาไทย

“โควิด-19 : องค์การอนามัยโลกตั้งชื่อเรียกใหม่ให้โควิดกลายพันธุ์ตามอักษรกรีก แทนชื่อเรียกตามประเทศ”

BBC NEWS I ไทย. มิถุนายน 1, 2021. https://www.bbc.com/thai/international-57314235.

“ญี่ปุ่นประกาศจะบริจาควัคซีนโควิดให้ไทย-ประเทศในเอเชียรวม6ล้านโดส.” TNN ONLINE.  มิถุนายน 25,

2564. https://www.tnnthailand.com/news/covid19/83623/.

ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย. “วันจันทร์ที่ 21

มิถุนายน 2564”ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย. มิถุนายน 21, 2564. https://www.moicovid.com/21/06/2021/

uncategorized/3877/.

ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค. “รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ฉบับ 363.”

ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค. ธันวาคม 31, 2563. https://ddc.moph.go.th/

viralpneumonia/file/situation/situation-no363-311263.pdf

สยามรัฐออนไลน์. “นายกฯ" ขอบคุณ "รัฐบาลจีน"ส่งมอบวัคซีนมาไทยเรียบร้อย | เดินหน้าตามแผน ขอสังคม

หยุดขัดแย้ง.” สยามรัฐ. กุมภาพันธ์ 24, 2564. https://siamrath.co.th/n/222613.

ไทยรัฐออนไลน์ (ก). “โควิดวันนี้ ยังวิกฤติหนัก ดับเลขนิวไฮ 53 ศพ ติดเชื้อพุ่ง 4,786 ราย.” ไทยรัฐ

ออนไลน์. มิถุนายน 30, 2564. https://www.thairath.co.th/news/politic/2128522.

ไทยรัฐออนไลน์ (ข). “"วัคซีนซิโนแวค" ลอตที่ 2 ที่บริจาคโดยรัฐบาลจีน 5 แสนโดสส่งถึงไทยแล้ว.” ไทยรัฐ

ออนไลน์. มิถุนายน 5, 2564. https://www.thairath.co.th/news/local/2108747.

ไทยรัฐออนไลน์ (ค). “อัปเดต 122 วัน ไทยฉีดวัคซีนเพิ่ม 2.5 แสนโดส ยอดสะสมล่าสุด 9.6 ล้านโดส.” ไทยรัฐ

ออนไลน์. มิถุนายน 30, 2564. https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2128921.

“อัพเดทล่าสุด 'มท.' สรุปยอดประชากรไทยทุกจังหวัดประจำปี 63.” กรุงเทพธุรกิจ. มีนาคม 2, 2564.

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/925238.

THE STANDARD WEALTH. “‘ทุนญี่ปุ่น’ ขึ้นแท่นลงทุนในไทยสูงสุดแซงหน้าจีน BOI ระบุ ปีนี้จ่อลุยกลุ่ม

การแพทย์ เทคโนโลยีชั้นสูง ธุรกิจดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐาน.” กุมภาพันธ์ 12, 2564. https://

thestandard.co/thailand-s-top-investor-is-japan-again-as-china-slows-spending/.

 

ภาษาอังกฤษ

“Countries in the world by population (2021).” Worldometer. Accessed June 22, 2021.

https://www.worldometers.info/world-population/population-by-country/.

Embassy of Japan in Thailand. “Handover Ceremony of COVID-19 Vaccines from Japan to

Thailand.” Embassy of Japan in Thailand. July 7, 2021. https://www.th.emb-

japan.go.jp/itpr_en/vaccines_00001.html.

“Japan’s Emergency Grant Aid for the Flood Disaster in the Kingdom of Thailand.” Reliefweb.

November 1, 2011. https://reliefweb.int/report/thailand/japan%E2%80%99s-

emergency-grant-aid-flood-disaster-kingdom-thailand.

“Japan's PM Yoshihide Suga pledges additional USD 800 million to COVAX facility.” ANINEWS.

June 3, 2021. https://www.aninews.in/news/world/asia/japans-pm-yoshihide-suga-

pledges-additional-usd-800-million-to-covax-facility20210603011524/.

“Japan said to be donating additional $1.05b, vaccines to WHO's Covax body.” The

STRAITSTIMES. Accessed June 22, 2021. https://www.straitstimes.com/asia/east-

asia/japan-to-donate-additional-105b-vaccines-to-whos-covax-body-media.

“Japan stepping up vaccine diplomacy to counter Chinese influence.” The Japan Times.

Accessed June 22, 2021. https://www.japantimes.co.jp/news/2021/06/19/national

/japan-vaccine-diplomacy/.

“Japan to donate additional US$800 million, COVID-19 vaccines to WHO's COVAX body:

Report.” CNA. June 2, 2021. https://www.channelnewsasia.com/news/asia/japan-

donate-800-million-covid-19-vaccines-covax-who-14930748.

“Japan to host Gavi's COVAX Advance Market Commitment (AMC) Summit.” GAVI The

vaccines Alliance. May 12, 2021. https://www.gavi.org/news/media-room/japan-host-

gavis-covax-advance-market-commitment-amc-summit.

Jibiki, Koya and Tsukasa Hadano. “China pushes 'vaccine diplomacy' in Southeast Asia.”

Nikkei Asia. January 16, 2021. https://asia.nikkei.com/Spotlight/Coronavirus/China-

pushes-vaccine-diplomacy-in-Southeast-Asia.

Kim, Chang-ran and Rocky Swift. “Japan to consider sharing COVID-19 vaccines amid calls to

help Taiwan.” Reuters. May 28, 2021. https://www.reuters.com/world/asia-

pacific/japan-considering-providing-astrazenecas-covid-19-vaccine-taiwan-newspaper-

2021-05-27/.

Ming-chu, Yang and Teng Pei-ju. “CORONAVIRUS/Japan ships 1.24 million vaccine doses to

Taiwan.” Focus Taiwan. April 6, 2021. https://focustaiwan.tw/politics/202106040006.

Ministry of Foreign Affairs of Japan. “Dispatch of Japan Disaster Relief (JDR) Expert Teams in

response to the Flood Disaster in the Kingdom of Thailand.” Ministry of Foreign

Affairs of Japan. October 28, 2011. https://www.mofa.go.jp/region/asia-paci/

thailand/jdr_111028.html.

Ministry of Foreign Affairs Republic of China (Taiwan). “MOFA expresses heartfelt gratitude to

Japan for providing vaccine doses in a joint effort to combat the COVID-19 pandemic.” Ministry of Foreign Affairs Republic of China (Taiwan). June 4, 2021. https://en.mofa.gov.tw/News_Content.aspx?n=1328&s=95948.

Nga, Le. “Japan gifts Vietnam almost 1 million doses of Covid vaccine.” VNEPRESS

international. June 17, 2021. https://e.vnexpress.net/news/news/japan-gifts-vietnam-

almost-1-million-doses-of-covid-vaccine-4294672.html.

Pacheco, Eli. “Thailand’s top investor is Japan again, as China slows spending.” The Toys

Matrix. February 12, 2021. https://toysmatrix.com/thailands-top-investor-is-japan-

again-as-china-slows-spending/.

Penn, Michael. “The politics of Japan’s Taiwan vaccine donation.” Aljazeera. June 11, 2021.

https://www.aljazeera.com/news/2021/6/11/japan-injects-vaccine-diplomacy-into-

the-taiwan-straits.

Pooritanasarn, Vipaporn. “Japan offers aid to flood victims.” Reliefweb. October 15, 2011.

https://reliefweb.int/report/thailand/japan%E2%80%99s-emergency-grant-aid-flood-

disaster-kingdom-thailand.

Prakash, Teesta. “The Quad gives a boost to India’s vaccine diplomacy.” The interpreter.

March 16, 2021. https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/quad-gives-boost-india-s-vaccine-diplomacy.

“Press Conference by the Prime Minister on the Outcome of the COVAX AMC Summit.”

Prime Minister and His Cabinet. June 2, 2021. https://japan.kantei.go.jp/99_suga

/statement/202106/_00002.html.

Prime Minister and His Cabinet. “Press Conference by the Prime Minister on the Outcome of

the COVAX AMC Summit”. Prime Minister and His Cabinet. June 2, 2021. https://

japan.kantei.go.jp/99_suga/statement/202106/_00002.html.

Reuters. “Japan to donate additional $800m to WHO’s COVAX body: Report.” Aljazeera.

June 2, 2021. https://www.aljazeera.com/news/2021/6/2/japan-to-donate-additional-

800m-to-whos-covax-body-report.

Reuters. “Japan to Ship 1 Million COVID-19 Vaccines to Vietnam on Wednesday.” U.S. News.

June 15, 2021. https://www.usnews.com/news/world/articles/2021-06-15/japan-to-

ship-1-million-covid-19-vaccines-to-vietnam-on-june-16.

The White House. “Fact Sheet: Quad Summit.” The White House. March 12, 2021.

https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/03/12/fact-

sheet-quad-summit/.

 

 

Wu, Huizhong and Mari Yamaguchi. “Taiwan, feuding with China, gets vaccines from Japan.”

ABC News. June 4, 2021. https://abcnews.go.com/Health/wireStory/japan-donates-

124m-vaccine-taiwan-amid-china-influence-78080635.

Login